สวัสดีเพื่อนๆ ทุกคน ที่มีปัญหาการเงินรุมเร้าในตอนนี้ ยังหาวิธีไม่ได้ ต้องทำอย่างไรดี ลองหาวิธี หาแนวทางมาด้วยตัวเองทุกอย่าง ก็ยังไม่พบทางสว่างสักที ถึงเวลาแล้วที่เราต้องเปลี่ยนแปลง ตัวเองจากที่เป็นอยู่ ให้มีชีวิตดีขึ้น ดีขึ้น ตลอดทุกวัน

ก่อนที่จะไปถึงขั้นตอนที่เราจะปฏิบัติ ให้ชีวิตการเงินดีขึ้นแล้ว เรามาทบทวนหลักคำสอนของพระพุทธเจ้าดูว่า เป็นอย่างไรจากอดีตถึงปัจจุบัน คำสอนนี้ยังใช้ได้อย่างจริงๆ และใช้ได้เกิดผลดีมาแล้ว นับไม่ถ้วน ลองเช็คข้อมูลดูอีกครั้ง ว่าเราใช้หลักการนี้ดำเนินชีวิตอยู่หรือไม่อย่างไร หลักธรรมที่ว่า คือ อิทธิบาท 4

“อิทธิบาท 4”  อันประกอบด้วยแนวปฏิบัติ 4 ข้อ คือ ฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสา เป็นแนวทางสำหรับการใช้ชีวิตให้ประสบความสำเร็จ โดยเฉพาะในการทำงาน หากสามารถเชื่อมโยงกระบวนการทั้ง 4 ข้อได้ ผลสำเร็จก็อยู่ไม่ไกลเกินเอื้อม

ฉันทะ การมีใจรัก ศรัทธาและเชื่อมั่นต่อสิ่งที่ทำ

หลายคนคงเคยได้ยินประโยคที่ว่า  Where there is the will, there is the way.  ที่ใดมีความปรารถนาอันแรงกล้า ที่นั่นย่อมมีหนทางเสมอ

การสร้างฉันทะ เราต้องเลือกที่จะศรัทธาบางอย่าง ที่สำคัญคือต้องหมั่นตรวจสอบศรัทธานั้น ว่าดีต่อตัวเองและต่อผู้อื่นหรือไม่  หากดีทั้งสองอย่างจึงมุ่งมั่นทำด้วยความตั้งใจ การทำงานด้วยความเชื่อมั่นศรัทธาที่ดี ย่อมเกิดผลสำเร็จที่ดีทั้งต่อตนเอง และสังคม

วิริยะ ความเพียร ความมุ่งมั่นทุ่มเท 

หมายถึงความเพียรพยายามอย่างสูง ที่จะทำตามฉันทะหรือศรัทธาของตัวเอง หากเราไม่มีความเพียร อาจอนุมานได้ว่าเรามีฉันทะหลอกๆ หรือศรัทธาหลอกๆ ทั้งโกหกตัวเองและหลอกผู้อื่น

วิริยะนี้มาคู่กับความอดทนอดกลั้น เป็นความรู้สึกไม่ย่อท้อต่อปัญหาและมีความหวังที่จะเอาชนะอุปสรรคทั้งปวง โดยมีศรัทธาเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจ นำใจ และเตือนใจ ความวิริยะอุสาหะ จึงเป็นวิถีทางของบุคคลที่กล้าท้าทายต่ออุปสรรคทั้งปวง เพื่อเป้าหมายคือ ความสำเร็จนั่นเอง

จิตตะ ใจที่จดจ่อและรับผิดชอบ

เมื่อมีใจที่จดจ่อแล้วก็จะเกิดความรอบคอบตาม คำนี้สำคัญมากในปัจจุบัน เพราะสังคมซับซ้อน มีสิ่งใหม่ๆ เกิดขึ้นมากมาย ทำให้บางคนไม่รู้จะทำอะไรก่อน ไม่สามารถมีจิตจดจ่ออยู่กับสิ่งใดสิ่งหนึ่งได้นาน ผลคือ ทำอะไรก็ไม่ดีสักอย่าง ทำผิดๆ ถูกๆ อยู่อย่างนั้น

อีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญคือ ความรับผิดชอบ เมื่อกระทำการสิ่งใดด้วยจิตจดจ่อแล้ว ต้องรับผิดชอบในสิ่งที่ทำด้วย จึงเรียกว่าเป็นผลสำเร็จดีงามตามแบบอย่างของคุณธรรม ตามหลักศาสนาและจริยธรรมของสังคม

วิมังสา การทบทวนในสิ่งที่ได้คิดได้ทำมา

สิ่งที่ทำอันเกิดจากการมีใจรัก (ฉันทะ) แล้วทำด้วยความมุ่งมั่น (วิริยะ) อย่างใจจดใจจ่อและรับผิดชอบ (จิตตะ) โดยใช้วิจารณญาณอย่างรอบรู้และรอบคอบ จะต้องมีกระบวนการสุดท้ายคือ การทบทวนตัวเอง และองค์กร ว่าสิ่งที่ได้คิดได้ทำเกิดผลดีผลเสียอย่างไร ทั้งที่เป็นเรื่องส่วนตัวของเราเองและเป็นเรื่องที่ร่วมคิดร่วมทำกับคนอื่น เพื่อปรับปรุงปรับแก้ไขให้ดียิ่งขึ้น

การสรุปบทเรียนนั้น คนส่วนใหญ่ยังเข้าใจว่า สรุปเมื่องานเดินทางมาได้ครึ่งทางหรือสิ้นสุดการทำงาน หรือการทำแผนงานรายไตรมาส คือทุก 3 เดือน แต่จริงๆ แล้วการสรุปบทเรียนควรจะทำให้อย่างสม่ำเสมอ อาจเป็นการพูดคุยกันหลังเสร็จสิ้นการทำกิจกรรมทุกครั้ง หรือหลังเลิกงานแต่ละวัน หรือใช้วิธีการแบบไม่เป็นทางการ เพื่อสรุปบทเรียนของแต่ละคนให้ได้มากที่สุด

ดังนั้น “อิทธิบาท 4” จึงมีความหมายกับคนรุ่นใหม่ที่ต้องการจะเดินทางไปในสู่ความสำเร็จในชีวิตและการงาน โดยเฉพาะในโลกปัจจุบันเป็นโลกที่ฉาบฉวยและวุ่นวาย ทำให้เราต้องฝึกฝนตนเอง เพื่อจะเข้าใจและเข้าถึงหลักธรรมที่ก่อกำเนิดการพัฒนาตนเองอย่างแท้จริง เพื่อพัฒนาองค์กรตลอดจนประเทศชาติให้เจิญก้าวหน้า

ที่มาคำนิยามของ อิทธิบาท 4  http://thaifamilymental.blogspot.com/2007/10/4.html